เนื้อหาคุณภาพ ในสายตาของ Google คัดเลือกจากปัจจัยอะไรบ้าง?

เนื้อหาที่มีคุณภาพ

หน้าเว็บหรือเนื้อหาที่มีคุณภาพ (quality content) ไม่ใช่แค่หน้าเว็บที่มีตัวอักษรเยอะๆ เพียงอย่างเดียว เนื้อหาขนาดยาวเป็นเพียงหนึ่งปัจจัย จากหลายๆ ปัจจัยของ Google ในการจัดอันดับเว็บเท่านั้น

ดังนั้น หากคุณต้องการทำเว็บ แล้วให้เป็นเว็บที่ถูก Google เลือกขึ้นมาติดอันดับบนหน้าค้นหาได้ คุณต้องเข้าใจปัจจัยหรือเกณฑ์การคัดแยกระหว่างเนื้อหาคุณภาพ กับเนื้อหาที่ไม่มีคุณภาพให้ได้ก่อน

Googlebot อ่านหน้าเว็บอย่างไร

ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบเรื่องเนื้อหาคุณภาพ เราต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อน ว่า Googlebot ซึ่งเป็น AI ที่ใช้สำหรับการรวบรวมข้อมูล และคัดเลือกข้อมูล เขามีวิธีการอ่านหน้าเว็บของเราอย่างไรบ้าง

ซึ่งแน่นอน Googlebot คงไม่ได้อ่านเนื้อหา แบบที่คนทั่วไปอ่านแน่ๆ ในความคิดเห็นของผม Googlebot จะใช้การแสกนข้อมูล ผ่านคำสำคัญบนหน้าเว็บ โดยเริ่มดูตั้งแต่ title, description และเนื้อหา ว่ามี Keyword ที่สัมพันธ์กับคำที่ user ค้นหาหรือไม่

เมื่อเขาเจอเนื้อหาหน้าแล้ว เขาจัดแยกเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ออกมาเก็บไว้ในฐานข้อมูล และทิ้งหน้าเว็บที่มีเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องหรือซ้ำออกไปก่อน

เมื่อเขามีหน้าเว็บที่มีเนื้อหาสัมพันธ์กับ keyword ที่เป็นคำค้นหา เขาก็จะเอาเนื้อหาของแต่ละหน้ามาคัดเลือกต่อ ว่าหน้าเว็บไหนมีองค์ประกอบอื่นๆ ดีกว่ากัน (องค์ประกอบอื่นๆ มีอะไรบ้าง จะมีเขียนอธิบายไว้ในหัวข้อถัดไป) เพื่อจะได้หยิบหน้าเว็บนั้น มาจัดอันดับ บนหน้าผลการค้นหา (SERP) ต่อไป

เราอาจสรุป การทำงานของ Googlebot ได้ดังนี้

  1. การค้นหาและรวบรวมข้อมูล (Crawling)
  2. การเลือกเก็บข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กับคำที่คนค้นหา (Indexing)
  3. การนำข้อมูลทั้งหมดมาจัดอันดับ  (Ranking

ปัจจัยการคัดเลือกเนื้อหาคุณภาพของ Google มีดังนี้

ในหัวข้อนี้ ผมจะอธิบายเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ของ Google ที่มีไว้สำหรับคัดเลือกคุณภาพของเนื้อหาบนหน้าเว็บต่างๆ

1. ความสัมพันธ์ของเนื้อหา กับ Keyword

Google คือ เครื่องมือสำหรับการค้นหาข้อมูล (Search engine) ดังนั้นสิ่งแรกที่เขาจะดูว่าเนื้อหาใดดีหรือไม่ดี เขาจะดูที่ความสัมพันธ์ของข้อมูลที่เราใส่ลงไปบนหน้าเว็บ กับคำที่ user ค้นหา

ดังนั้น เป็นกฎพื้นฐานของการทำ SEO เลย ก็คือที่ title หรือ description ในแต่ละหน้าต้องมีคำ Keyword ที่ user ค้นหาใส่ลงไปด้วย เพราะ title คือจุดแรกที่ Googlebot ใช้ในการแสกนเพื่อแยกเนื้อหาออกไปตามหมวดหมู่ของกลุ่ม keyword ต่างๆ

2. ความสดใหม่ ไม่ซ้ำใคร (original content)

Googlebot ไม่ได้ดูแค่ว่าเว็บใครมี keyword ใส่ลงไปเปะๆ ตรงๆ อย่างเดียว เขายังดูบริบทของประโยคที่เราแต่งบน title กับ description ด้วย ดังนั้น บริบทของคำที่อยู่รอบๆ คำ Keyword ก็มีความสำคัญ

Googlebot มองหาข้อมูลที่มีชัดเจน ตรงกับสิ่งที่ user ค้นหา ดังนั้น การเขียน title ที่ดี คุณต้องเขียนให้มีประเด่นเดียว เรื่องเดียว อย่าให้มีกลุ่มของ keyword เรื่องอื่นๆ มารบกวนประเด่นของ keyword ที่เป็นคำหลัก

และสิ่งที่เป็นที่แน่ชัด Google จะไม่จัดอันดับให้กับหน้าเว็บ ที่มีการคัดลอกเนื้อหาคนอื่นมาใช้ซ้ำแบบเปะๆ การจะเขียน Title ให้ออกมาดี คุณต้องแต่งเอง ให้มีรูปประโยคที่สดใหม่ แตกต่างๆ จากเว็บที่ติดอันดับมาก่อนเราให้ได้

อ่านเพิ่มเติม: เขียน SEO title กับ Meta description อย่างไรให้ถูกต้อง

3. การวางโครงสร้างเนื้อหา (ปรับ on page)

ปัจจัยต่อมาที่ Googlebot จะสแกนดูต่อก็คือการวางโครงสร้างเนื้อหา หรือถ้าเป็นภาษา SEO เราจะเรียกว่าการปรับ on page หรือถ้าพูดให้เข้าใจแบบภาษาชาวบ้าน on page คือ การทำให้เนื้อหาดูง่าย อ่านง่าย

แต่ต้องทำให้เนื้อหามีความสัมพันธ์กับ Keyword ที่คนค้นหาด้วย คือเนื้อหาต้องไม่ออกนอกเรื่อง ต้องเขียนโดยยึด Keyword หลักอย่างชัดเจน ซึ่งจุดนี้เราจะเช็คยากมาก ว่าแบบไหนคือเหมาะสม พอดี หรือไม่ออกนอกเรื่อง

ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณต้องเขียนยาวกี่คำ เขียนยาว 2000 คำ บางที่อาจจะกลายเป็นออกนอกเรื่องก็ได้ แต่บางหน้าเว็บเขียนแค่ 500 คำ แต่มันมีข้อมูลที่ชัดเจน ตรงประเด็นกว่า ก็อาจจะติดอันดับดีกว่าก็ได้

ดังนั้น เทคนิคการทำเนื้อหาแล้วไม่ออกนอกเรื่อง ให้คิดประเด่นหัวข้อย่อยๆ ของหน้านั้นออกมาก่อน สัก 4-6 ประเด่น แล้วพิจารณาดูว่า หัวข้อย่อยที่เราจะเขียน มันมีความสัมพันธ์กับ Keyword หลักหรือไม่

เช่น หากผมกำลังทำบทความเรื่อง สอน WordPress แต่มีการนำเสนอเรืองการทำ SEO เข้าไปใส่ที่หน้านั้นด้วย แบบนี้ก็ถือว่าไม่ดี เพราะการทำ SEO มันควรจะแยกออกมาทำต่างหากอีก 1 หน้า

อ่านเพิ่มเติม: เขียนบทความ SEO ให้ถูกหลัก Google ด้วย On-page SEO checklist

4. ความคาดหวังของ User (Search Intent)

Search Intent คือ สิ่งที่คนอยากรู้ อยากเห็น หรือความคาดหวังของลูกค้า ต้องการอะไรในการค้นหาคำนั้นๆ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ

  • Navigational (หาทางเข้า)ค้นหาเชื่อเว็บที่เฉพาะเจาะจง/หรือค้นหาชื่อ brand ตรงๆ
    ตัวอย่าง keyword ที่แสดงถึงการมองหาทางเข้าสู่เว็บที่เฉพาะเจาะจง เช่น คำว่า “Google search Console” แปลว่า เขาต้องการเข้าไปดูสถิตเว็บตัวเองที่เชื่อมเอาไว้ หากคุณไปทำบทความ แล้วไปเลือกทำ Keyword นี้ คุณก็ต้องวางลิงก์ทางเข้า เอาไว้ช่วงบนๆ ของเนื้อหาได้เลย
  • Informational (หาข้อมูล)ค้นหาข้อมูลทั่วไป เพื่อค้นหาคำตอบบางอย่าง
    หากคุณกำลังทำบทความ เพื่อตอบคำถามทั่วไป เช่น การอธิบายนิยามคำศัพท์เฉพาะต่าง คุณก็ควรเปิดเนื้อหา ด้วยคำนิยามหรือความหมายของคำศัพท์นั้นไปได้เลย ไม่ต้องไปเขียนเกริ่นนำยืดยาว
  • Transactional (หาที่ซื้อของ)ผู้ใช้งานหาสิ่งของที่ต้องการจะซื้อ (พร้อมจะซื้อแล้ว ขอให้ได้เจอเว็บเหอะ)
    โดยมาก Search Intent คือการค้นหาคำที่เป็น ชื่อสินค้า หรือประเภทของสินค้าตรงๆ เช่น คำว่า ”เครื่องกรองน้ำ” แปลว่า ในใจของ user เขาอยากเห็น เครื่องกรองน้ำรุ่นต่างๆ ไว้อยู่แล้ว ที่เนื้อหาหน้าเว็บของคุณ ก็ควรแสดงตัวสินค้าที่ลูกค้ากำลังมองหาขึ้นมาก่อนได้เลย ไม่ใช่มัวไปนั่งอธิบาย ว่าเครื่องกรองน้ำคืออะไร ใช้งานอย่างไร
  • Commercial (หาตัวเลือก) – ค้นหาข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบ ดูรีวิวสินค้าหรือบริการต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ
    ในบาง keyword ที่มักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า “รีวิว” หรือ ลงท้ายด้วย “ไหนดี” เช่น ที่ไหนดี ,ยี่ห้อไหนดี, รุ่นไหนดี หากคุณกำลังจะทำ keyword พวกนี้ ให้ระลึกไว้เลย ลูกค้าต้องการข้อมูลแบบละเอียด พร้อมทั่งการเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย รวมถึงความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้เขียน การทำ Keyword คำกลุ่มนี้ คุณต้องทำเนื้อหาขนาดยาว เขียนให้ละเอียด เปรียบเทียบให้ชัดเจนได้เลย
search-intent

อ่านเพิ่มเติม: Search Intent คืออะไร?​ คู่มือฉบับครบ สำหรับมือใหม่ (2023)

5. พฤติกรรมของ user (user experience)

พฤติกรรมของ user ที่กระทำบนหน้าเว็บของเรา ถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมากที่สุด สำหรับการที่ Googlebot จะแยกระหว่างเนื้อหาทั่วไป กับเนื้อหาที่มีคุณภาพ

Googlebot รู้ได้อย่างไรว่าใครเขียนเนื้อหาดีกว่ากัน เขาไม่ได้อ่านข้อมูลแบบที่คนทั่วไปอ่าน แต่ Googlebot ใช้พฤติกรรมของ user เป็นตัวตัดสินนั้นเอง เขาไม่ได้สนใจว่าคุณจะเขียนสั้นหรือยาว หรือเขียนผิดหรือเขียนถูกหลักไวยากรณ์ภาษาหรือไม่

แต่เขาจะดูว่า หน้าเว็บนี้คนเข้ามาดูเยอะแค่ไหน เข้ามาแล้วอยู่นานมั้ย การเลื่อนของหน้าจอ หรือจังหวะ touch screen เลื่อนช้าหรือเร็ว มีการกดเปิดไปหน้าอื่นต่ออีกมั้ย แล้วมีการกลับเข้ามาดูซ้ำอีกรอบหรือไม่ มีการเก็บหน้านี้ไว้บน bookmark หรือไม่ มีการส่งต่อหน้านี้ไปให้คนอื่นอ่านต่ออีกหรือป่าว

ดังนั้นโจทย์ของพวกเราที่ต้องทำเกี่ยวกับ user experience มีดังนี้

  • มี Traffic
  • มี time on page (ระยะเวลาที่คนอยู่บนหน้าเว็บ)
  • มีการเลื่อนหน้าจอขึ้นลง
  • มีการคลิกไปหน้าอื่น และมีการคลิกกลับมา
  • มีการกลับมาดูซ้ำ
  • มีการส่งต่อหน้าเว็บไปให้คนอื่น

ถ้าด้านบนคือโจทย์ เป็นสิ่งที่เราต้องทำ คุณคิดว่าเราจะต้องทำเนื้อหาไปในทิศทางไหนได้บ้าง?

ทำยังไงให้หน้าเว็บมี Traffic?

เว็บเราจะมี Organic Traffic ได้ เว็บนั้นต้องติดอันดับหน้าแรก Google ก่อน แต่ถ้าหน้าเว็บเราพึ่งทำ มันจะมี traffic ได้อย่างไร ดังนั้น เมื่อทำเนื้อหาบนเว็บเสร็จ ช่วงแรกคุณต้องเรียกความสนใจของ Googlebot ด้วยการหา direct traffic ก่อน

direct traffic คือ การที่มีคนคลิกตรงๆ เข้ามายังหน้าเว็บของเราตรงๆ ดังนั้น วิธีการที่เป็นที่นิยมมากที่สุดของการหา direct traffic คือ การเอาเนื้อหาบนเว็บไปโปรโมทบน social media ช่องทางต่างๆ

ทำยังไงให้หน้าเว็บเรามี  time on page นานๆ

การจะให้คนอยู่บนหน้าเว็บนานๆ แบบทางตรงเลย คือ การเขียนเนื้อหาให้อ่านรู้เรื่อง น่าสนใจ ซึ่งจุดนี้ต้องใช้ทักษะการเขียนอย่างมาก

นักเขียนที่ดี มักจะเป็นนักอ่านตัวยง  เมื่อเขาเป็นนักอ่าน เขาก็จะสามารถเช็คสิ่งที่เขียนลงไปได้ ว่าสิ่งที่เขียนนั้น น่าอ่านหรือหรือไม่ จุดไหนอ่านแล้วไม่ลื่นไหล ก็ปรับใหม่ จนกว่าจะรู้สึกว่าลื่นไหล อ่านตั้งแต่ต้นจนจบแล้วดูไม่รู้สึกเหนื่อย

คนไม่ได้แอนตี้เนื้อหายาวๆ ถ้าคุณเขียนได้ลื่นไหล อ่านง่าย แต่ที่คนไม่ชอบเนื้อหายาวๆ เพราะส่วนใหญ่ เขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่องนั้นเอง ถ้าคุณเขียนดี ยาวแค่ไหนคนก็อ่านเนื้อหาจนจบได้

แต่ถ้าเราไม่ใช้นักเขียนมืออาชีพ จะทำไงดีหล่ะ?

เป้าหมายคือต้องทำให้เนื้อหามี time on page เยอะๆ คนอยู่หน้าเว็บเรานานๆ แต่ในเมื่อเราไม่ใช่นักเขียน เขียนให้ตาย ยังไงก็ไม่น่าอ่าน หรืออ่านแล้วก็ไม่สมูทลื่นไหล

ดังนั้น สิ่งที่คุณต้องทำคือ หาสิ่งที่มันหยุดสายตา มาใส่เพิ่มลงไปในเนื้อหา ก็คือ รูปภาพประกอบเนื้อหาสวยๆ หรือภาพ infographic สรุปเนื้อหาสำคัญของสิ่งที่เขียนอีกที หรือคลิป YouTube ที่สอดรับกับเนื้อหาของเรา ต้องเพิ่มสิ่งเหล่านี้เข้าไป เพื่อแก้จุดอ่อนเรื่องของงานเขียนที่เราเขียนไม่เก่งนั้นเอง

ทำยังไงให้คนเลื่อนดูหน้าเว็บเราแบบช้าๆ ได้?

ก็ใช้เทคนิคเดียวกับวิธีการเพิ่ม time on page แต่ให้เลือกรูปภาพที่มันหยุดสายตาได้ เทคนิคที่นิยมใช้เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ การเพิ่มรูปภาพที่เป็นหน้าคนลงไป ยังไงก็ตามคนส่วนใหญ่ ย่อมชอบหยุดมองของสวยๆ งามๆ อยู่เสมออยู่แล้ว

ดังนั้น เว็บเราต้องมีรูปนางแบบหรือรูปคนสวยๆ หรือหนุ่มหล่อๆ มาเป็นตัวหยุดสายตาของ user เสมอ

ทำยังไงให้คนคลิกนู้นนี่นั้น หรือคลิกกลับไปกลับมาบนหน้าเว็บของเรา?

คนจะคลิกไปหน้าอื่นต่อได้ บนหน้าเนื้อหาหลักของคุณ ต้องมี internal link เชื่อโยงเนื้อหาภายในเว็บนั้นเอง ดังนั้น เอาเป็นกฎง่ายๆ เลย ทุกหน้าบนเว็บเรา ต้องมีลิงก์เชื่อมโยงกดไปหน้าอื่นๆ เสมอ อย่างน้อยๆ สัก 2 ลิงก์ขึ้นไป

Google ไม่ได้สนใจว่าใน 1 หน้า จะมีลิงก์กี่ลิงก์ แต่เขาดูว่า มีคนกดลิงก์ออกไปยังหน้าอื่นๆ ต่อหรือไม่ ดังนั้น ลิงก์ที่เราทำมันจะมีคนกดดูต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของเราเอง ดังนั้น ทุกจุดที่เป็นลิงก์คุณต้องทำให้มันเห็นเด่นชัด คือ ใส่สี หรือทำเป็นปุ่ม เอาไว้ และข้อความบนลิงก์ กับหน้าปลายต้องมีความสัมพันธ์กันด้วย

อ่านเพิ่มเติม: Link building คู่มือสร้างลิงค์แบบละเอียด

ทำยังไงให้มีคนกลับมาดูหน้าเนื้อหาของเราซ้ำ?

ถ้าเนื้อหาไม่น่าสนใจ ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์ คนก็ไม่กลับมาดูหน้าเว็บเราซ้ำ ดังนั้น ในหน้าเว็บของเรา นอกจากข้อมูลสินค้าที่คุณขาย หรือบริการที่คุณทำ

ควรมีเนื้อหาที่เป็นความรู้เกี่ยวกับการใช้สินค้านั้นๆ หรือบริการนั้นๆ แบบเละเอียด เตรียมเอาไว้ด้วย แบบว่า ถ้าเขานึกถึงการใช้งานสินค้าตัวนี้ ต้องนึกถึงเว็บของเรา

ด้วยเหตุผลนี้ การทำ SEO แต่ละเว็บจึงต้องทำเนื้อหาเพิ่มอีกหลายหน้า เพื่อให้มันครอบคลุมสิ่งที่ลูกค้าอยากรู้ทั้งหมด รวมไว้ในเว็บเดียวกัน

และนอกจากนี้คนจะมาดูเว็บเราซ้ำได้ เขาต้องจำชื่อเว็บเราได้ ดังนั้น คุณต้องไปศึกษาเรื่อง brand awareness หรือ personal branding เพิ่มเติมนะ การทำ brand คือการทำให้คนนึกถึงเรา ในวันที่เขาต้องการนั้นเอง ถ้าเขาลืมชื่อเว็บเราในวันที่เขาต้องการ โอกาสที่จะมีคนกลับมาหน้าเว็บเราซ้ำก็มีน้อยครับ

ทำยังไงให้มีคนส่งต่อหน้าเว็บไปให้คนอื่น?

ดังนั้น การทำเนื้อหาบนเว็บ มันจึงไม่ใช่ว่าจะเขียนอะไรไปเรื่อยเปื่อยๆ หรือเขียนแต่เน้นจำนวนตัวอักษรยาวๆ อย่างเดียว เราต้องเอาลูกค้า หรือ user เป็นตัวตั้งต้นในการคิดคอนเทนต์ก่อน วิเคราะห์ว่า เขาอยากรู้อะไร ชอบอะไร อยากเห็นอะไรบ้าง แล้วเราค่อยไปทำคอนเทนต์ซับพอต สิ่งที่เขาต้องการเป็นหลัก

คนจะแชร์สิ่งใดต่อ เขาต้องชอบเนื้อหาที่เราทำก่อน เขาถึงจะบอกต่อให้เรา แต่ถ้าคุณจะใช้วิธีการซิกแซก เพื่อหลอก Google ในจุดนี้ก็ทำได้ แต่ต้องใช้เงินเล็กน้อย คือ การลงทุนไปจ้างคนที่มีซื้อเสียง หรือเพจดังๆ ช่วยโปรโมทหน้าเว็บของเราให้นั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม: Influencer คือใคร ทำไมคนทำการตลาดออนไลน์ต้องพึ่งพาพวกเขา

6. ความน่าเชื่อถือ (Domain Authority)

ความน่าเชื่อถือในที่มี ความหมายจะเน้นไปที่ ความน่าเชื่อถือของโดเมนเป็นหลัก (Domain Authority) ซึ่งเจ้า Domain Authority ไม่ได้เป็นเรื่องของคะแนน DA PA ที่พวกเรารู้จัก เพราะคะแนนพวกนี้ไม่ใช่คะแนนจาก Google เป็นคะแนนที่ทาง MOZ คิดคำนวณขึ้นมาเอง

แต่โดเมนที่จะมีความเชื่อถือในสายตา Google จะมีองก์ประกอบต่างๆ ดังนั้น

  • อายุของโดเมน
    แน่นอนโดเมนที่มีอายุเยอะกว่า ได้เปรียบโดเมนที่อายุน้อย
  • ประเภทของโดเมน
    โดเมนที่เป็น Local domain หรือภาษาทั่วไปแบบเข้าใจง่ายๆ คือ โดเมนที่ลงท้ายด้วยนามสกุล co.th หรือนามสกุลที่เป็นหน่วยงานในประเทศนั้นๆ เช่น .ac.th, .go.th เป็นต้น โดเมนพวกนี้ในสายตา Google ถือว่ามีความน่าเชื่อถือสูง เพราะเราจะจดโดเมนที่นามสกุลลงท้ายด้วย .th ได้ ต้องมีการส่งเอกสารยืนยันตัวตนก่อนนั้นเอง
  • มีคนพูดถึงชื่อโดเมน
    มีคนจำนวนมากค้นหาชื่อโดเมน หรือชื่อบริษัทเราบนหน้า Google เป็นจำนวนมาก การเช็คจุดนี้ คือการเช็ค search volume หรือปริมาณการค้นหาชื่อเว็บของเราลงไป ชื่อเว็บใครมีปริมาณการค้นหามาก ยิ่งมีแต้มต่อในการทำบทความ เราอาจจะเคยสังเกตเห็นว่า ทำไมบางเว็บเขียนเนื้อหาสั้นนิดเดียว แต่ติดอันดับหน้าแรกได้ เพราะอาจจะมีปัจจัยจุดนี้เยอะได้นั้นเอง
  • จำนวน Backlink คุณภาพ
    ได้รับลิงก์ส่งกลับมาจากเว็บอื่นๆ ที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกับธุรกิจของเรา หรือได้รับ Backlink ส่งกลับมาจากเว็บต้นทางที่มีความน่าเชื่อถือในปริมาณที่มากพอ
  • มี keyword ปรากฏที่ชื่อโดเมน
    การมีคำ Keyword ปรากฏที่ชื่อโดเมน ทำให้ Google เข้าใจเนื้อหา และจัดหมวดหมู่ของธุรกิจเราได้ง่ายขึ้น ดังนั้นชื่อโดเมนใครมีคำ Keyword ประกอบในชื่อ ก็จะได้เปรียบเพิ่มขึ้นสำหรับการทำ Keyword นั้นๆ

จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้นทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบการเป็นเนื้อหาที่มีคุณภาพมีหลายเงื่อนไข ที่เว็บเราต้องทำให้ได้ แต่หลักๆ หัวใจคือ การเอาลูกค้า หรือ user เป็นตัวตั้งต้นในการเริ่มทำคอนเทนต์ ทำให้คนชอบสิ่งที่เรานำเสนอคือแก่นสำคัญ

แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ไม่สำคัญ แต่นักทำ SEO ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด แล้วไปเสียเวลาหมกหมุ่นกับสิ่งพวกนี้ ซึ่งก็มีอยู่อีกหลายอย่าง ผมจะยกตัวอย่างให้ดูต่อไป

สิ่งที่ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกเนื้อหาของ Google

  • จำนวนคำ ความสั้นยาวของข้อมูลไม่ได้มีผลอะไรมากนัก
  • ไฟเขียวไฟแดง จากพวกโปรแกรม SEO ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น yoast หรือ rankmath
  • คะแนน page speed เต็ม 100 คะแนน
  • เกณฑ์ core web vital
  • จำนวนหน้าเนื้อหาบนเว็บ
  • ความถี่ในการลงบทความ
  • จำนวน Backlink ที่มีแต่ปริมาณแต่ขาดคุณภาพ

สรุปความรู้เรื่องเนื้อหาที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร

การทำ SEO เป็นเรื่องของคอนเทนต์ สิ่งที่เราใส่ลงไปในเว็บล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องทางเทคนิค แต่เป็นการทำคอนเทนต์ให้คนชอบ ถ้าคนชอบเว็บเรา Googlebot ก็จะชอบเนื้อหาเราไปด้วย หน้าไหนยังไม่ติดอันดับ ก็เพราะเนื้อหาที่เราเขียนลงไปยังไม่ดีพอนั้นเอง ส่วนใหญ่ คือ ซ้ำ เขียนยังไม่สดใหม่ มีแต่ข้อมูลเดิมๆ และ หัวข้อ, Keyword กับเนื้อหาไม่สัมพันธ์กัน

พวกเราจึงควรเปลี่ยนแนวคิดใหม่ให้ถูกต้องก่อน ทำ SEO คือการทำคอนเทนต์ให้มีคุณภาพ ดังนั้น คุณภาพมันดูง่ายมาก เราดูด้วยตาเลย  อะไรที่มันผิดธรรมชาติ อะไรที่มันดูแล้วจงใจเกินไป ดูแล้วไม่สวย ดูแล้วเป็นขยะ ดูแล้วเป็นสแปม คือไม่ดีทั้งหมด

  • YouTube เขาก็อยากได้คลิปเจ๋งๆ ดูสนุกๆ
  • Facebook เขาก็อยากได้คอนเทนต์สดใหม่ มียอดแชร์ ไลค์ คอมเม้น
  • TikTok เขาก็อยากได้คลิปสั้นๆ ตลกๆ สนุกๆ
  • Google เขาเป็น information ดังนั้น เขาก็อยากได้เนื้อหาข้อมูลสดใหม่ ถูกต้อง และเป็นธรรมชาติ

พวกทางเทคนิค เช่น เว็บโหลดช้าโหลดเร็ว (แค่ทำให้เว็บไม่โหลดช้าเกิน 3 วิ ก็เพียงพอแล้ว) core web vital ไม่ได้มีผลต่อ SEO ส่วน backlink เป็นแค่ปัจจัยเสริมแค่นั้น สำคัญแค่ 5% เท่านั้นครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *