สอน WordPress ฟรี 
เรียน WordPress สำหรับผู้เริ่มต้น

คุณรู้หรือไม่ 35 % ของเว็บทั้งโลกสร้างเว็บด้วย WordPress ทำไมคนถึง ใช้ WordPress ใน การสร้างเว็บไซต์  มากขนาดนี้ เหตุผลเดียวก็คือ WordPress สร้างโอกาสให้ทุกคนสามารถทำเว็บได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่อง Code ไม่ต้องเขียนโปรแกรม ไม่ต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ เรียกได้ว่าใคร ๆ ก็สามารถทำเว็บได้ รวมถึงผมด้วย ที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ และไม่มีความรู้เรื่อง Coding อะไรเลย

 

WordPress
WordPress สถิติ

สำหรับมือใหม่ ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกเอง คู่มือสอน WordPress 2024 ชุดนี้ จะเป็นการอธิบาย วิธีใช้งาน WordPress ที่ละขั้นตอนแบบละเอียด ทำตามได้ง่ายๆ

WordPress คืออะไร

WordPress คือ เครื่องมือสร้างเว็บไซต์ แบบ Zero code เราสามารถออกแบบเว็บ เพิ่มเติมบทความ รูปภาพ ได้เองแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องมีความรู้เรื่อง Code หรือความรู้ด้านโปรแกรมมิ่งเลย

ทำไมควรใช้ WordPress

  • ประหยัดค่าใช้จ่าย

    ใครๆ ก็สามารถโหลด WordPress มาใช้ได้ฟรี เพราะเป็น Opensource ดังนั้นเราจึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างคนเขียนโปรแกรม เราสามารถเรียนรู้และทำด้วยตนเองได้เลย

  • ไม่ต้องเขียนโค้ดให้ยุ่งยาก

    การสร้างเว็บด้วย WordPress เราไม่จำเป็นต้องมีทักษะ coding แต่เขาจะมีชิ้นส่วนต่างๆ เตรียมไว้ให้เรา เราสามารถนำชิ้นส่วนเหล่านั้น มาลากและวาง ประกอบร่างเป็นเว็บได้อย่างที่ใจต้องการเลย

  • มีฟังชั่นต่างๆ มากมาย

    ทุกระบบ ทุกฟังชั่นที่เราต้องการ จะมีผู้สร้างปลั๊กอิน WordPress จากทั่วโลก ทำเตรียมไว้ให้ เราก็แค่ไปค้นหา และหยิบมาใส่บนเว็บ WordPress ของเราได้เลย เช่น ระบบ Ecommerce ระบบ Booking เป็นต้น

  • อัพเดทเนื้อหาต่างๆ ได้ง่าย

    เพราะ WordPress ใช้งานง่าย ใช้งานได้บนทุกอุปกรณ์ คุณสามารถเพิ่มข้อมูลหรืออัพเดทเนื้อหาได้ตลอด ทุกที่ ทุกเวลา แก้จุดไหนผิด หรือเผลอลบข้อมูลแบบไม่ตั้งใจ ตัว WordPress ยังมีความสามารถ restore กู้เนื้อหาเดิมกลับคืนมาได้อีกด้วย

  • มีธีมให้เลือกเยอะ ดีไซน์สวยงาม

    เราสามารถใช้ WordPress ออกแบบเว็บให้สวยๆ ได้ทุกจินตการ หรือหากคุณไม่มีไอเดียในการออกแบบเว็บ แต่ละธีมของ WordPress เขาจะมี Template การดีไซน์เว็บ ที่ออกแบบไว้อย่างสวยงาม มาให้เราเลือกใช้อีกด้วย

  • ทำ SEO ง่าย

    WordPress มีฟังชั่นสำหรับทำ SEO เตรียมไว้แบบครบวงจร และมีโครงสร้างเว็บที่เป็นมิตรกับการให้ Google เก็บข้อมูล ซึ่ง Google เองยังแนะนำให้คนทั่วไปที่ไม่เก่ง SEO ควรเลือกใช้ WordPress ในการสร้างเว็บ

ใช้ WordPress สร้างเว็บอะไรได้บ้าง

ถ้าพูดตามหลักการ WordPress สามารถสร้างเว็บได้ทุกประเภทบนโลกใบนี้ เช่น สร้างเว็บบริษัทก็ได้ สร้างเว็บร้านค้าปลีกก็ได้ สร้างเว็บเป็น Marketplace เหมือน Lazada ก็ได้ หรือจะสร้างเว็บเป็นคอร์สเรียนออนไลน์ แบบ skilllane ก็ได้

เว็บขายของ

แต่ตอนลงมือทำจริงอาจจะไม่เหมาะกับการทำเว็บบ้างประเภทนะ โดยเฉพาะเว็บที่มีระบบซับซ้อน เช่น Maketplace หรือเว็บพวกประกาศขายบ้าน  ด้วยเหตุผลประมาณนี้ครับ

  • WordPress เหมาะกับเว็บที่เป็นร้านค้าเดี่ยว เป็นสินค้าของเราเอง โพสขายเอง เก็บเงินเอง อันนี้เหมาะกับการสร้างด้วย WordPress
  • เว็บที่เป็น Market place มีความซับซ้อนของระบบมากกว่าหลายเท่า เพราะผู้ขายต้องมีสิทธิเอาสินค้ามาวางขาย และแก้ไขรายละเอียดของตัวเอง เช็คยอดเงิน / การส่งของต่างๆ (ซึ่งต้องกำหนดอีกมากว่า ใครส่ง ด้วยเงื่อนไขไหน ใครรับประกัน
  • WordPress เป็น open source software โดยให้คนทั้งโลกรวมกันพัฒนา โดยการเขียนธีม และปลั๊กอิน ให้มาทำงานร่วมกับ WordPress แต่เมื่อต่างคนต่างๆ เขียน หลายๆ เมื่อเราต่อเติมเว็บให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น จะมีโอกาสที่ปลั๊กอิน กับธีม ตีกัน ทำให้ระบบพังได้นั้นเอง

ดังนั้น WordPress เหมาะกับการสร้างเว็บบริษัท ที่มีลักษะเป็น Information และเหมาะสำหรับทำเว็บร้านค้าเดี่ยว มากกว่าการทำเว็บที่มีระบบซับซ้อนโดยเฉพาะ WordPress ไม่เหมาะกับการสร้างเว็บ Market place ครับ

ตามหลักการ WordPress สร้างเว็บได้ทุกประเภทบนโลกใบนี้ แต่การลงมือทำจริง เว็บบางประเภทอาจจะไม่เหมาะกับการสร้างด้วย WordPress

ตัวอย่างเว็บไซต์ WordPress สวยๆ

สำหรับผู้เริ่มต้น อาจยังไม่มั่นใจว่าจะเลือกใช้ WordPress สร้างเว็บดีมั้ย WordPress สร้างเว็บได้หลากหลายจริงรึป่าว รองรับการแสดงผลบนมือถือมั้ย และคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์จะสามารถสร้างเว็บให้ออกมาสวยและดูดีได้จริงๆ หรอ

ตัวอย่างเว็บไซต์ต่อไปนี้ เป็นผลงานสร้างเว็บของนักเรียนที่มาเรียนทำเว็บกับผม ซึ่งแต่ละคนไม่ได้มีทักษะไอที ทุกคนเริ่มต้นเรียนรู้จากศูนย์ แต่สามารถสร้างเว็บได้ออกมาสวยและดูดีได้ทุกคน

fitmesport.com

addin.co.th

allwellhealthcare.com

udwassadu.com

mth-highshoes.com

21stwist.com

korpungun.com

dentalhospitalthailand

pnsteelproduct.com

branding-one.com

vanichgroup.com

diamond-fresh.com

netsepia.com

plaradise.com

phetyont.com

wintergoround.com

motoyadesign.net

tanateauditor.com

ดูตัวอย่างเว็บไซต์เพิ่มเติม

ความแตกต่างระหว่าง WordPress.com กับ WordPress.org

WordPress มีให้รูปแบบเลือกใช้งานสองประเภท คือ WordPress.com และ WordPress.org ทั้งสองประเภทนี้มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ทําให้เราจําเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง WordPress ทั้ง 2 ประเภทนี้ก่อน

WordPress.com

WordPress.com มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์ม one stop service คือรวมทุกบริการสำหรับการสร้างเว็บ เริ่มตั้งแต่การใช้งานแบบฟรี คือ เปิดให้ทุกคนเข้าไปสร้างเว็บได้ฟรี แบบไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ชื่อเว็บที่ใช้สร้างฟรี ต้องวางอยู่บนชื่อ ที่มีคำว่า WordPress.com ต่อท้าย เช่น yourname.wordpress.com แต่การใช้งานแบบฟรี จะมีข้อจำกัด คือจะสร้างเว็บได้เฉพาะเว็บ Blog ให้ข้อมูล ให้ความรู้ ทำระบบอะไรที่ซับซ้อนไม่ได้

แต่ถ้าคุณต้องการทำเว็บแบบเต็มรูปแบบ คือ มีชื่อโดเมน คุณก็สามารถจดโดเมน ที่ WordPress.com และอัพเกรดแพคเกจจากตัวฟรี เป็นแบบเสียเงิน คุณก็จะได้พื้นที่เก็บเว็บไซต์เข้ามาด้วย ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 10,000 บาท ต่อการสร้าง 1 เว็บไซต์

ข้อดี ของการสร้างเว็บบน WordPress.com ก็คือ เครื่องมือทุกอย่างวางบนระบบเดียวกัน ทำให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องการอัพเดทเครื่องมือ หรือการดูแลด้านความปลอดภัย เพราะตัวแพลตฟอร์มเขาจะดูแลจุดนี้แทนให้เราครับ

ข้อเสีย จะเป็นในเรื่องของค่าใช้จ่ายปีที่เริ่มต้นต่อ 1 เว็บค่อนข้างสูง ถ้าคุณต้องการทำเว็บหลายๆ เว็บ การเลือกใช้ WordPress.com อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก

WordPress.org

การใช้ WordPress.org จะมีลักษณะเป็นโปรแกรมฟรี ที่ทุกคนสามารถโหลดแล้วเอาไปใช้งานต่อได้ แต่ตัวโปรแกรม Wordpress ตัวนี้ ถ้าคุณจะนำไปสร้างเว็บจริง คุณต้องไปจดโดเมน และเช่าโฮสเองต่างหาก แล้วถึงค่อยไปติดตั้ง WordPress ลงไป ก็คือ คุณต้องทำทุกอย่างเองทั้งหมด

ข้อดี ของการสร้างเว็บด้วย WordPress.org คือมีต้นทุนที่ถูกกว่าต่อการสร้าง 1 เว็บ คือค่าใช้จ่ายจะมีเพียงแค่ค่าโดเมน และค่าโฮสติ้ง ซึ่งโดยมากโฮสติ้งสำหรับผู้เริ่มต้นจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 1,000 – 2,000 บาทต่อปีเท่านั้น และ 1 โฮสติ้งเราสามารถสร้างเว็บได้หลายเว็บด้วย

ข้อเสีย ของการใช้งาน WordPress ประเภทนี้ก็คือ คุณต้องจัดการทุกอย่างเองทั้งหมด รวมถึงการดูแลเว็บ การอัพเดทระบบ การรักษาความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความรู้พอสมควร

ดูรูปภาพการเปรียบเทียบเพิ่มเติมนะ

WordPress.com กับ .org

ที่มาของรูปภาพ wpexplorer.com

ส่วน WordPress ที่ผมใช้สอนในบทเรียนนี้ ผมจะพาคุณใช้งาน WordPress.org เป็นหลัก ด้วยเหตุผลที่ราคาต้นทุนที่ถูกกว่า และมีความเป็นอิสระ หากคุณใช้งาน WordPress เป็นคุณจะสามารถสร้างเว็บอะไรก็ได้ กี่เว็บก็ได้นั้นเอง มันอาจจะดูเหมือนยากตอนเริ่มต้น แต่พอฝึกทำตามบทเรียนไปสักพักมันจะง่ายมากเองครับ

องค์ประกอบของเว็บไซต์ WordPress

การสร้างเว็บด้วย WordPress เราไม่ได้ใช่แค่ WordPress อย่างเดียวแล้วจะสามารถสร้างเว็บให้ใช้งานจริงได้ หากคุณต้องการทำเว็บให้ใช้งานจริงได้ จะมีองค์ประกอบอีกหลายส่วน ในการทำงานร่วมกับ WordPress ดังนี้ครับ

องค์ประกอบ WordPress
  1. WordPress คือ แพลตฟอร์ม เปรียบเหมือนระบบปฏิบัติการ (OS) บนคอมพิวเตอร์ที่เราจำเป็นต้องติดตั้งก่อน แต่ตัว WordPress เองยังไม่มีความสามารถในการออกแบบความสวยงาม หรือสร้างฟังชั่นที่ซับซ้อน เราต้องทำงานร่วมกับเครื่องมือหรือปลั๊กอินอื่นๆ ด้วย
    องค์ประกอบ WordPress
  2. Woocommerce คือ ปลั๊กอินที่ช่วยแปลงร่างเว็บ WordPress ธรรมดาๆ ของคุณให้กลายเป็นเว็บร้านค้าออนไลน์เต็มรูปแบบ เราสามารถโหลดตัวปลั๊กอินนี้มาใช้ฟรีๆ ได้อีกด้วย และในปัจจุบันจากสถิติเว็บร้านค้าออนไลน์ของทั้งโลก 47% คือเว็บที่สร้างมาจาก Woocommerce
    WordPress ขายของ
  3. Theme คือ เครื่องมือที่ใช้สำหรับออกแบบ และจัดวาง layout หน้าตาเว็บไซต์ WordPress ของเราให้สวยงามในแบบที่เราต้องการ หากเราใช้งานธีมได้เก่งๆ เราจะสามารถออกแบบหน้าเว็บของเราอย่างไรก็ได้ ทุกไอเดีย หรือออกแบบเว็บเลียนแบบหน้าตาของเว็บที่เราชอบก็ได้
    ธีม WordPress
  4. Plugin คือ เครื่องมือเพิ่มฟังชั่นการใช้งานเว็บ WordPress ของคุณ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบโจทย์ธุรกิจ หรือในสิ่งที่เราต้องการ เช่น สร้างฟอร์มเก็บข้อมูล ทำระบบ booking หรือระบบ live chat เป็นต้น
    plugin wordpress

ต้นทุนการสร้างเว็บ WordPress

เว็บไซต์ ก็คือ ร้านค้าบนโลกออนไลน์ ที่ไว้คอยเรียกลูกค้าให้แวะมาชอปปิ้งที่ร้านของเรา นั้นหมายความว่า หากคุณต้องการทำเว็บแล้วให้มันขายของได้ คุณต้องลงทุนเงิน เวลา การออกแบบ การตกแต่ง ให้ร้านค้าคุณน่าสนใจพอที่จะดึงผู้คนให้แวะมาเยี่ยมชม

สำหรับต้นทุน (เงิน/เวลา) ในการสร้างเว็บไซต์ ให้มีคุณภาพ มีดังนี้ครับ

  1. ค่าจดโดเมน 400 – 1000 บาท ราคาจะแตกต่างกันตามนามสกุลที่เราเลือกใช้ เช่น
    นามสกุล .com, .net, .in.th จะราคาประมาณ 400-500 บาท
    นามสกุล .co.th จะราคาประมาณ 1000 บาท
  2. ค่าเช่าโฮสติ้ง (ที่ตั้งเว็บไซต์) ราคา 1500 – 3000 บาท
  3. ค่าแพลตฟอร์ม (เครื่องมือสร้างเว็บ) เราจะใช้ WordPress ในการทำ ซึ่งตัว WordPress นั้น ฟรี!
  4. ค่าธีม (สำหรับในการออกแบบเว็บ) ราคา 2,000-2,500 บาท
  5. ค่าจ้างทำกราฟฟิค บางครั้งอยากให้เว็บออกมาสวย ดูเป็นมืออาชีพ เราต้องจ้างคนทำกราฟฟิครูปภาพประกอบเว็บให้เราครับ ราคาโดยเฉลี่ย 15,000 – 20,000 บาท (กรณีที่คุณไม่ได้ทำเองนะ)
  6. ต้นทุนด้านเวลาการทำเว็บหากเราจ้างคนอื่นทำให้เรา ใช้เวลาประมาณ 20-30 วัน
  7. ต้นทุนด้านเวลาหากคุณคิดจะทำเว็บไซต์เอง มีดังนี้
    – เวลาที่ใช้สำหรับการเรียนรู้ 2-3 เดือน
    – เวลาที่ใช้สำหรับการทำเว็บให้ใช้งานจริงๆ ได้ อีก 1-2 เดือน
  8. ค่าแรงของคนที่รับจ้างทำ แต่ละคนจะมีค่าตัวไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ย 15,000 – 30,000 บาท (กรณีที่เราไม่ได้ทำเองนะ)

ดังนั้นโดยสรุป ต้นทุนของการสร้างเว็บไซต์ ให้มีคุณภาพดี

  • หากคุณจ้างคนอื่นทำราคาจะประมาณ 30,000 – 50,000 บาท (เป็นราคาขั้นต่ำนะ)
  • หากคุณเรียนรู้ที่จะทำเองต้นทุนที่ใช้จะประมาณ
    4,500 บาท (ไม่รวมค่ากราฟฟิค)
    20,000 บาท (ทำเว็บเอง แต่จ้างกราฟฟิคออกแบบรูป)
  • เวลาที่ใช้ 3-4 เดือน กรณีที่คุณสร้างเว็บด้วยตนเอง เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเรียนรู้ จนถึงการลงมือทำเว็บให้สำเร็จ

ขั้นตอนการสร้างเว็บ WordPress

การสร้างเว็บด้วย WordPress นั้นไม่ยาก แต่มันมีรายละเอียดเยอะ เพื่อให้การเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่หลงทาง ผมแนะนำให้คุณเรียนรู้และลงมือทำทีละขั้นตอน ดังนี้ครับ

  1. จดโดเมน เช่าโฮส
  2. ติดตั้ง WordPress
  3. ฝึกใช้งาน WordPress พื้นฐาน
  4. ออกแบบเว็บให้สวยงามด้วยธีม
  5. สร้างระบบร้านค้า Woocommerce
  6. สร้างฟังชั่นเพิ่มเติมด้วย ปลั๊กอิน
  7. เชื่อมต่อเว็บเข้ากับ Google
  8. ทำ SEO และทำการตลาดออนไลน์

สรุป: คู่มือสอน WordPress 2024

การใช้งาน  WordPress นั้นไม่ยาก ใคร ๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้ แต่เขาก็มีรายละเอียดค่อนข้างมาก สำหรับผู้เริ่มต้นใช้งาน WordPress อาจจะยังรู้สึกว่ามันยังไม่ง่าย ตรงจุดนี้เราต้องค่อยๆ ฝึกฝนทำซ้ำไปเรื่อย ๆ พื้นฐานที่แน่นเท่านั้น ถึงจะช่วยให้เราทำเว็บให้มีประสิทธิภาพได้ในอนาคต เพราะแค่การทำเว็บได้ กับทำเว็บให้ดี ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่มากครับ

บทเรียนถัดไป: การจดโดเมน