Refresh

This website padveewebschool.com/main-keyword-lost/ is currently offline. Cloudflare's Always Online™ shows a snapshot of this web page from the Internet Archive's Wayback Machine. To check for the live version, click Refresh.

วิธีแก้ Keyword คำหลักขึ้น Lost หลุดหายไปจากหน้า google

สิ่งที่คนทำ SEO ไม่อยากเจอ ถ้าโปรแกรม Ahrefs แจ้งว่า Lost เมื่อไหร่ ก็แปลว่า keyword ที่เราเคยติดอันดับนั้นหลุดไปแล้ว หลุดออกไปจาก top 100 บน Google

แต่สิ่งแรกที่เราต้องแยกก่อน ระหว่างคำว่า อันดับตก กับ อันดับหายออกไปจากหน้าผลการค้นหา Google เลย การแก้ไขจะมีความแตกต่างกันบ้าง ต้องดูเป็นเคสๆ ไป

แต่ถ้าเว็บคุณอันดับตก หรืออันดับหายไปหลังจากช่วง 10 ตุลาคมเป็นมา ร่วงแล้วร่วงเลย อันดับก็ยังไม่กลับมานั้นแปลว่าเว็บคุณได้รับผลกระทบจาก Google’s October 2023 Core Update ซึ่งเป็นการอัพเดทของ Google ครั้งใหญ่ ที่ทำให้คนทำ SEO ต้องกลับมาทบทวนวิธีการทำกันอีกครั้ง

Keyword หลักขึ้นว่า Lost บนโปรแกรม Ahrefs ดูยังไง

จุดนี้เราจะดูที่ URL ของแต่ละหน้าเป็นหลัก ไม่ได้ดูแบบทั้งเว็บ (เดี๋ยวเอาเคสของผมเป็นตัวอย่าง) เช่น เว็บผมติดอันดับ 1 คำว่า “สอน SEO” บน URL นี้ padveewebschool.com/learn-seo-free/ ซึ่งผมติดอันดับ 1 ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน เกินกว่า 5 ปี

แล้วอยู่ๆ อันดับเว็บผมหน้านี้กลับหายไปดื้อๆ โดยที่ผมไม่ได้มีการเข้าไปปรับ หรือแก้อะไรเลย แปลว่า เว็บของผมได้รับผลกระทบบางอย่างจากการที่ Google มีการอัพเดทนั้นเอง

ในความเป็นจริงแล้ว วิธีการเช็คก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เพราะมันคือ Keyword คำหลัก ซึ่งโดยธรรมชาติ เราก็ค้นหาใน Google เพื่อเช็คเว็บตัวเองอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าเช็คแล้ว ไม่เจอหน้าที่เคยติดอันดับ ก็แปลว่าหน้านั้นของเราหลุดหายไปจากสารระบบ Google นั้นเอง

แต่ถ้าต้องการเห็นเป็นแบบรูปธรรม ว่าหน้านั้นคำไหนหลุดหายไปบ้าง เราก็สามารถเอา URL นั้นเป็นเช็คบน Ahrefs ได้ แล้วเลือก Exact URL จากนั้นดูที่หัวข้อ Organic keyword แล้วเลือกกรอง Position: Lost เราก็จะพบคำ Keyword ที่เคยติดอันดับบนหน้านี้ แต่ปัจจุบันมันหายไป

แนวทางแก้ไขให้อันดับกลับมา

1. เช็คการแจ้งเตือนบน Google search console ก่อน

แม้ว่าเว็บผมจะเป็นสายคอนเทนต์ ทำทุกอย่างแบบ Organic ทำแบบถูกต้องสายขาว เป็นหลัก แต่ให้พวกเราพึงระลึกไว้เสมอ อาจะจะมีข้อผิดพลาดทางเทคนิค ในสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากเราทำก็ได้ เช่น Google มีการอัพเดทวิธีการเก็บข้อมูล

หรือเครื่องมือที่เราใช้สร้างเว็บ มีการอัพเดท ไม่ว่าจะเป็น WordPress ธีม และปลั๊กอินต่างๆ หากมีการอัพเดท บางครั้งอาจส่งผลต่อการเก็บข้อมูลของ Google ได้ เราจึงต้องตั้งต้นด้วยการ Inspect URL(การตรวจสอบ URL) เสียก่อน

โดยการเอา URL ของหน้านั้นไปวางตรงช่อง การตรวจสอบ URL บน Google search console นั้นเอง

เพื่อเช็คว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ โดยเราจะดูหลักๆ ตามที่เขาแจ้งได้เลย ได้แก่

  • การจัดทำดัชนี
  • HTTPS status
  • การแสดงเส้นทาง
  • หรืออื่นๆ ถ้ามี จุดนี้แต่ละเว็บอาจมีการแจ้งเตือนให้เช็คแตกต่างกัน

โดยภาพรวมเว็บของผมก็คือปกติ แต่มีการแจ้งเตือนบางอย่าง แสดงขึ้นมา คือ “เรื่องการจัดทำดัชนีหน้าวีดีโอ” ซึ่งก่อนหน้านี้ Google ไม่เคยมีแจ้งเตือนเรื่องนี้

นั้นแปลว่าหลังจาก  Google core อัพเดท Google มีการเปลี่ยนวิธีการ index วีดีโอใหม่ ซึ่งผมก็เคยได้รับอีเมลแจ้งเตือนจากทาง Google มาบ้าง แต่ผมก็ไม่ได้สนใจจุดนี้ ตัวอย่างอีเมลที่พวกเราเคยอาจจะได้รับก็จะเป็นประมาณนี้

ผมมองว่าจุดนี้ไม่น่าจะใช้ปัญหาใหญ่ เพราะถ้าอะไรที่เป็นปัญหาสำคัญ ที่ google search console ต้องแจ้งเตือนเป็นสัญลักษณ์สีแดง น่าจะเป็นแค่การแจ้งเตือนว่า ปัญหานี้ถ้าแก้ไขได้ก็ดี แก้ไขไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

2. แก้ไขปัญหา “วิดีโออยู่นอกวิวพอร์ต”

แต่ในเมื่อเว็บของผม อันดับมันหายไป แม้จะเป็นแค่การแจ้งเตือนเล็กน้อย ผมก็ต้องหาวิธีการแก้ไข แต่เราจะแก้ไขการแจ้งเตือน “วิดีโออยู่นอกวิวพอร์ต” ได้อย่างไรหล่ะ

ผมก็เลยคลิกเข้าไปดูว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้วีดีโอบนหน้าเว็บนั้นไม่ index

ปล. รูปด้านบนไม่ใช่การแจ้งเตือนบนหน้า “สอน SEO” ของผมนะ เพราะหน้านั้นผมแก้ปัญหาไปแล้ว แต่ผมไม่ได้แคปรูปเก็บเอาไว้ ผมจึงยกตัวอย่างหน้าอื่นๆ ที่มีปัญหาเดียวกัน หน้านี้มี 1 คลิป YouTube แต่ถ้าหน้า “สอน SEO” ผมจะมีอยู่ 3 คลิป เขาก็จะแจ้งเตือนว่า “ตรวจพบวีดีโอ 3 รายการในหน้า”

ซึ่งปัญหาอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องทางเทคนิค โดยปกติแล้วเราไม่ต้องแก้ เพราะเดี๋ยวพวกระบบ WordPress ธีม และปลั๊กอินต่างๆ เขาจะหาวิธีการแก้ไขให้เองอัตโนมัติ เมื่อพวกเขามีการอัพเดท

แต่ผมใจร้อน เพราะผมมีอาชีพสอน SEO คำอื่นๆ ผมไม่ติดอันดับ นั้นไม่เป็นไร แต่คำว่า “สอน SEO” ผมต้องติดอันดับ 1 ให้ได้ เพราะถ้าทำไม่ได้ ก็ถือว่าเสียฟอร์มคนสอน SEO นั้นเอง

การแก้ไขของผม ไม่ใช่การเอาวีดีโอออก เพราะผมมองว่า คลิป YouTube นั้นก็เป็นประโยชน์ต่อคนเข้ามาดู ผมจะยังใส่คลิป 3 อันนั้นไว้คงเดิม แต่ผมเปลี่ยนวิธีการวางคลิป จากการเอาลิงก์ YouTube มาวางที่ชิ้นส่วน Video ตรงๆ ตามที่เคยทำ

ผมเปลี่ยนมาใช้ชิ้นส่วน image แทน แล้ววางวีดีโอให้เป็นลักษณะ popup คือ ตอนเปิดหน้าเว็บยังจะไม่มีการแสดง YouTube แต่เมื่อคลิกไปที่ปุ่มบนรูปภาพ ค่อยแสดงคลิป YouTube ดูตัวอย่างก่อน และหลังตามนี้นะ

การวาง YouTube ผ่านลิงก์ตรงๆ

การวางลิงก์ Youtube ลงบน รูปภาพ

3. แก้ปัญหาการได้รับผลกระทบจาก Helpful Content และ Spam Update

Google’s October 2023 Core Update เป็นการอัพเดทครั้งใหญ่ของ Google ซึ่งแบ่งการอัพเดทออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ Helpful Content และ Spam Update ซึ่งผมก็เคยเขียนอธิบายไว้แล้ว ว่าใน 2 ส่วนนี้ Google ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง ดังนั้น พวกเราต้องคลิกเข้าไปอ่านซ้ำทบทวนให้เข้าใจก่อนนะ

แต่ให้สรุปสั้นๆ ก็คือ การทำเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ซึ่งสร้างมาเพื่อผู้คนจริงๆ อ่าน ไม่ใช่การทำเนื้อหา เพื่อเอาใจ Google

Google วางหลักการกว้างๆ เอาไว้ว่าเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง ซึ่งเว็บผม โดยปกติ ทุกบทความผมก็จัดเต็ม โดยเขียนเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่แล้ว และทำมาอย่างต่อเนื่อง

แต่ทำไม เว็บที่ทำเนื้อหามาอย่างดี ก็ยังอันดับหลุด?

ซึ่งผมจะวิเคราะห์ให้พวกเราได้เห็นเป็นกรณีศึกษานะ แม้ว่าเว็บผมจะเนื้อหาดี ผ่านเกณฑ์ Helpful Content แต่สิ่งที่เว็บผมไม่ผ่านคือ เรื่องของการเป็น Spam ก็คือ คุณอาจจะทำเนื้อหาดี แต่มันซ้ำกับหน้าอื่นๆ ที่เคยทำไว้แล้วมากเกินไป

เพราะอะไร เว็บเราถึงมีเนื้อหาซ้ำ เพราะเราอยากติด Keyword ใด keyword หนึ่งมาเกินไป เราจึงไปทำแต่ Keyword เดิมๆ หรือใกล้เคียงของเดิม แต่เราไม่สามารถทำให้เนื้อหาแต่ละหน้าแตกต่างกันได้

เช่น ผมอยากติดอันดับ 1 ใน Keyword เหล่านี้

  • SEO
  • ทำ SEO
  • สอน SEO
  • เรียน SEO
  • เรียน SEO ที่ไหน
  • รับสอน SEO
  • SEO WordPress

ผมก็เลยแยกหน้าแบบยิบย่อย คือ หน้าละ 1 keyword ไปเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทำได้ไม่ผิด 1 หน้า คุณจะโฟกัสแค่ keyword เดียว หรือหลาย keyword ก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องทำให้ได้ ก็คือ การนำเสนอของมูลในแต่ละหน้า ต้องมีความแตกต่างกันทั้งเรื่องของเนื้อหา และวิธีการนำเสนอ รวมถึงรูปภาพต่างๆ ด้วย ต้องทำให้ทุกหน้ามีความแตกต่างกันให้ได้

แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็จะมีบางหน้ากลายเป็น spam ในสายตา Google ทันที

เมื่อผมวิเคราะห์แล้วว่า หน้า “สอน SEO” อันดับหลุดหายไปจากวงโคจร Google น่าจะเกิดจาก ที่เราทำเนื้อหาซ้ำนั้นเอง ซ้ำในที่นี้ ไม่ใช่เพราะว่าหน้านั้นของผม ไปคัดลอกข้อมูลจากหน้าอื่นมานะ

แต่ที่มันซ้ำ ก็เพราะว่าหน้า “สอน SEO” เป็นหน้าเนื้อหาที่ผมทำไว้ช่วงแรกๆ พอเวลาผ่านไป เราทำเนื้อหาเพิ่ม เรามักจะติดรูปแบบประโยคที่เราเขียนบ่อยๆ เอาไปใช้ซ้ำกับหน้าอื่นๆ หรือหน้าอื่นๆ มีการทำบทความ แล้วยกตัวอย่างข้อมูลบนหน้า “สอน SEO” ไปใช้

ทำให้ Google มองว่า หน้าที่เราสร้างใหม่ภายหลัง มีความสดใหม่มากกว่า หน้าต้นฉบับที่เราทำไว้ตอนแรก

4. ไล่เช็คเนื้อหาทุกจุดที่ซ้ำของหน้านั้น

แน่นอน ปัญหามากจากการที่เนื้อหามันซ้ำซ้อนกัน เราก็ต้องจัดการจุดนี้ก่อน โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่สำคัญที่สุดของการปรับ On-page ก็คือ การเขียน Title กับ Meta description

ของเดิมผมแต่ง Title กับ Meta description ไว้ดังนี้

และเมื่อผมเอาคำ Title กับ description ไปเช็ค ปรากฏว่า ประโยคทั้ง 2 จุดนี้ มันซ้ำแบบเปะๆ บนหน้านี้ “วิธีเขียน page title และ meta description ให้ถูกหลัก SEO” ทำไมมันถึงซ้ำ ก็เพราะว่า ในหน้านั้น ผมยกตัวอย่างการเขียน title แล้วผมก็ดันไปคัดลอก Title ของหน้า “สอน SEO” มาเป็นตัวอย่างนั้นเอง

การแก้ไขปัญหา ก็คือ ลบข้อมูลในหน้ารองออก แล้วรักษา title บนหน้าหลักไว้ หรือ เนื้อหาหน้ารองปล่อยทิ้งไว้ แล้วเข้าไปแต่ง Title ที่หน้าหลักใหม่

แต่ผมเลือกลบข้อมูลที่หน้ารองแทน เพื่อรักษา tittle ที่หน้าหลักเอาไว้ เพราะผมมองว่า เราก็แต่งได้ดี และดูน่าสนใจ และไม่ซ้ำกับเว็บอื่นๆ อยู่แล้ว

ดูเทคนิค สำหรับคนที่ต้องการเขียนบทความ แล้วต้องมีการยกตัวอย่างข้อมูลจากหน้าอื่นๆ มาใส่ ทำยังไงไม่ให้กลายเป็นเนื้อหาซ้ำ คลิกเข้าไปดูตัวอย่างการทำที่นี่

ก็คือสำหรับตัวอย่างข้อความนี้ แทนที่ผมจะเขียนเป็น Text แต่ผมแคปเป็นรูปภาพไปแปะแทน

รูปด้านบนนี้คือ image นะ ไม่ใช่ text พวกเราดูออกมั้ย

สำหรับการแก้ไข title เป็นอันจบไป

คราวนี้ เราต้องแก้จุดที่ 2  คือ Meta description เราต้องเช็คก่อนว่า description ของหน้าหลักนั้น เราแต่งดีหรือยัง? ให้สังเกตง่ายๆ เลย ดูว่าสิ่งที่ Google ดึงมาแสดงบนหน้าผลการค้นหา กับสิ่งที่เราเขียน เป็นประโยคเดียวกันหรือไม่ ถ้าไม่ตรงก็จัดการแต่งใหม่ได้เลย โดยการนำสิ่งที่ Google แสดงมาแต่งใหม่นั้นเอง

ถ้าดูตัวอย่างด้านบน Google ไม่เลือกแสดงตามที่ผมแต่งไว้ แล้วดึงข้อมูลอื่นขึ้นมาแสดงแทน พวกเรามองเห็นอะไรมั้ย ว่าทำไม google ถึงไม่แสดง description ที่ผมแต่งไว้

อันดับแรกเลย คือ มันเป็นคำซ้ำ เช่น คำว่า “คอร์สเรียน SEO” ผมมีหน้าอื่นๆ ที่เป็นหน้าหลักของคำนี้ไว้อยู่แล้ว ก็คือ หน้านี้ padveewebschool.com/where-to-learn-seo/

คำว่า “SEO บน WordPress มันก็ไปชนกับหน้าหลัก “SEO WordPress”  คือ หน้านี้ padveewebschool.com/wordpress-seo-tips/

ส่วนคำว่า “บริการสอน SEO ตัวต่อตัว” ก็ไปชนกลับหน้านี้ padveewebschool.com/seo-consult/

จากตัวอย่างด้านบนแบบนี้แหละ เราเรียกว่าการทำเนื้อหาซ้ำ แม้ว่าคุณจะไม่ได้คัดลอกมาแบบเปะๆ แต่มันใกล้เคียงหรือไปซ้ำซ้อนกับหน้าอื่นๆ มากเกินไป

ดังนั้น เราก็ต้องแก้ไขใหม่ ตามหลักการแต่ง Description  คือ แต่งให้เป็นสรุปเนื้อหาของหน้านั้น ดังนั้น คุณจะแต่งแบบจินตการเขียนไปเรื่อยเปื่อยไม่ได้ ต้องเขียนให้เป็นสรุปเนื้อหา คือ ต้องมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาที่เราทำบนหน้านั้นด้วย (ถ้าจะทำบทความใหม่ ต้องแต่งตามหลักการนี้ด้วยนะ)

แต่ถ้าของเรามันคือบทความเก่า วิธีการแก้ไข ก็คือ ให้ดูว่า ณ ปัจจุบัน Google เขาดึงประโยคอะไรมา ก็ให้เราเอาประโยคนั้นแหละ เป็นตัวตั้งต้นในการแต่ง Description ใหม่

ผมก็เลยแต่ง Description ใหม่ได้ตามนี้ครับ

เป็นอันจบสำหรับภารกิจแก้ title กับ description

5. เช็คเนื้อหาซ้ำ กับ เช็ค on page

สิ่งที่ต้องทำต่อมา คือ ดูในเนื้อหาว่ามีอะไรซ้ำกับหน้าอื่นๆ บ้างหรือไม่

และผมก็พบว่าย่อหน้าแรกของหน้า “สอน SEO” ไปซ้ำกับเนื้อหาหน้า “การทำ SEO” ก็เช่นเดิม เราก็ต้องเลือกว่าจะแก้ไขหน้าไหน แล้วให้มีเหลือข้อความนั้นไว้แค่หน้าเดียว

ผมก็เลือกลบข้อมูลที่ซ้ำจากหน้า “การทำ SEO” ออก เพื่อจะได้รักษาย่อหน้าแรกของหน้า “สอน SEO” ให้เป็นประโยคเดิม

แต่งหัวข้อ h1-h3 ใหม่

  • Title กับ H1 ใช้ประโยคเดียวกันไปเลย
  • H2 คือประเด่นหลัก ต้องมีความสัมพันธ์กับ Title และ Description
  • H3 เป็นประเด่นเสริม สามารถเป็น keyword ของหน้าอื่นๆ ได้

หลักการทำหัวข้อก็คือ

  • Title
  • Description
  • H1 / H2 / H3

ทั้ง 3 ส่วนนี้ ต้องแต่งให้มันสัมพันธ์กัน อันนี้คือหลักการ แต่ไม่มีสูตรสำเร็จนะ พวกเราต้องไปปรับใช้กันดูนะ เพราะจะรู้ว่าเขียนสัมพันธ์กันหรือไม่ ต้องใช้ความเข้าใจกันเองครับ แต่ให้จำหลักง่ายๆ คือ แต่งเรื่อยเปื่อย ไปคนละทิศทางไม่ได้

ดูลิงก์ที่มันผิดธรรมชาติ อย่าพยายามตั้งใจใส่ลิงก์ออกไปหาหน้าใดหน้าหนึ่ง แบบจงใจ ผมจะถอดลิงก์ที่ดูผิดธรรมชาติออกให้หมด

ขอทบทวนเรื่องการสร้างลิงก์อีกรอบ

เราจะทำลิงก์เชื่อมโยงเนื้อหา ไม่ว่าจะลิงก์ภายใน หรือลิงก์ภายนอก แล้วให้มันส่งผลดีต่อการทำ SEO เราต้องเข้าใจเหตุผลก่อน ว่าหน้าที่ของลิงก์คืออะไร เราใส่ลิงก์ไปเพื่ออะไรกัน

หน้าที่หลักๆ ของลิงก์ มีอยู่ 2 อย่าง คือ

  1. มีไว้สำหรับการเชื่อมโยงเพื่ออธิบายคำศัพท์ที่เฉพาะเจาะจง ที่ไม่ได้มีอธิบายไว้ในบทความนั้นๆ
  2. เพื่อเชื่อมโยง สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหน้านั้นๆ

เว็บที่เป็นตัวอย่างเรื่องการทำลิงก์เชื่อมโยงที่ดี ก็คือเว็บ Wikipedia นั้นเอง เมื่อเราเข้าไปดูเว็บ Wikipedia

เราจะได้เลิกสงสัยว่าแต่ละหน้าต้องใส่กี่ลิงก์ เพราะ 1 หน้าเราจะใส่กี่ลิงก์ก็ได้ ถ้ามันทำหน้าที่ อย่างใดอย่างหนึ่ง ของ 2 อย่างด้านบน

อย่าไปตั้งต้นด้วยความคิดที่ว่า ใส่ลิงก์เพื่อดัน seo ถ้าคิดแบบนี้เมื่อไหร่ ลิงก์ต่างๆ ที่เราใส่บนเว็บมันจะผิดธรรมชาติ ผิดที่ ผิดทางทันที

ดังนั้น ก่อนจะทำลิงก์เชื่อมโยงออกไปที่ไหน ทั้งลิงก์ภายใน หรือลิงก์ภายนอก ให้เช็ค 2 เงื่อนไขนี้เสมอ คือ

  1. หน้าปลายทางที่ลิงก์ส่งไปหา มันช่วยขยายความคำศัพท์ที่เราทำลิงก์หรือไม่
  2. หน้าปลายทางที่ลิงก์ส่งไป มันเป็นข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมและมีความสัมพันธ์กับหน้าต้นทางหรือไม่

ลิงก์ที่เราจะทำต้องเข้าเงื่อนไขใด เงื่อนไขหนึ่งเสมอ หากลิงก์ที่เราทำมันเข้าเงื่อนไข เราจะใส่ไปกี่ลิงก์ ต่อหน้าก็ได้

6. หา direct Traffic มากระตุ้น เพื่อเรียกให้ Google กับมา Index

แน่นอนเมื่อเราแก้ไขเนื้อหาไหนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราต้องไปขอจัดทำดัชนีใหม่ ที่ inspect URL

ให้เข้าใจก่อน ถึงแม้ว่าเราจะกดขอจัดทำดัชนีใหม่ซ้ำกี่รอบก็ได้ แต่จุดนี้ก็ไม่ได้เป็นตัวเร่งให้ Google เข้ามา index ซ้ำในทันที เราต้องรอเวลาอยู่ดี แต่จะช้าหรือเร็ว ก็อยู่ที่ประวัติความน่าเชื่อถือเว็บของเราด้วย

แต่สำหรับวิธีการเร่งให้ Google สนใจหรือเห็นเว็บเราไวๆ ในความคิดเห็นของผม คุณต้องหา Direct Traffic ที่เป็นคนจริงๆ เข้ามาดูหน้านี้ให้ได้ ดังนั้นจุดนี้ คุณต้องใช้ social media ทั้งหลายให้เป็นประโยชน์

แต่ในสไตล์ของผม ผมไม่ชอบโพสขายของ หรือเชิญชวน หรืออ้อนวอนให้คนทำอะไรตรงๆ แต่ผมจะใช้การสร้างคอนเทนต์ที่มันดูน่าสนใจ และให้คนอยากคลิกเข้าไปดูเนื้อหาต่อเอง โดยที่ผมไม่ได้บังคับอะไร

ผมจึงได้สร้างบทความขึ้นมาใหม่ 1 บทความคือ เรื่องนี้ Google ไม่ได้สมบูรณ์แบบ มีการแสดงผลลัพธ์ที่ผิดพลาด นักทำ SEO ต้องยอมรับมันให้ได้ก่อน แล้วเอาบทความนี้ไปทำคอนเทนต์บนเพจ Facebook ของผมเอง แต่หัวใจก็คือ คุณต้องทำให้คอนเทนต์พวกนี้ มันมีคนกดถูกใจ แชร์ต่อ หรือมีคนคลิกเข้าไปอ่านต่อให้ได้ ซึ่งจุดนี้เราควบคุมไม่ได้

และในหน้าบทความล่าสุดด้านบนของผม ก็จะมีการทำ internal link เป็นสะพานพาคนคลิกกลับไปหาหน้า “สอน SEO” ที่ผมได้สร้างเอาไว้นั้นเอง

และบทความใหม่ผมได้เอาไปกระตุ้นบน Facebook แค่ 1 วัน หน้านั้นก็ Index แล้ว มันก็จะเกิดสิ่งที่ภาษา SEO เรียกว่า Link juice ทำให้ bot ไต่จากหน้าที่พึ่ง index ใหม่ วิ่งไปหาหน้าเก่าที่เราอยากกระตุ้นให้ Google bot เข้ามาเก็บข้อมูลอีกครั้ง

วิธีเช็คผลลัพธ์ว่า สิ่งที่เราแก้ไขไป จะมีโอกาสทำให้อันดับเรากลับขึ้นมาหรือไม่

เมื่อเราทำการปรับปรุงเนื้อหาเสร็จเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ต้องรอเวลาอย่างเดียว เพื่อรอดูว่าสิ่งที่เราได้ทำลงไปนั้นได้ผลหรือไม่ หากสิ่งที่เราทำลงไป มาถูกทาง จะมีหลักเช็คดังนี้

1. เช็ควันที่ การ Crawl ครั้งสุดท้าย

 ต้องเป็นวันล่าสุด ไม่ใช่วันเดิมก่อนหน้า นั้นแปลว่า Google ได้เข้ามา Crawl เก็บข้อมูลหน้านั้นเรียบร้อยแล้ว

2. เช็คความเป็นเจ้าของเนื้อหาสดใหม่

หลังจากที่การ Crawl ล่าสุดปรากฏขึ้น ให้รอต่อไปอีกอย่างน้อยสัก 2-3 วัน เพื่อให้ทุกอย่างมันนิ่งก่อน เราถึงจะเช็คสิ่งที่เรียกว่าเนื้อหาสดใหม่ได้

เนื้อหาสดใหม่ คือ การที่ Google กินสิ่งที่เราเขียนลงไปในระบบผลการค้นหานั้นเอง เราจะเช็คอยู่ 2 จุดหลักๆ ในเบื้องต้น คือ ประโยคของ Title กับประโยคของย่อหน้าแรก

หลักการเช็คก็คือ ให้คัดลอก title ของหน้าเว็บเรา ไปค้นหาบน Google เลย ถ้าเรามาถูกทาง คือ ได้เป็นเนื้อหาสดใหม่ และไม่ซ้ำใคร ไม่ซ้ำกับตัวเองหน้าอื่นๆ ด้วย เมื่อเราค้นหาด้วยประโยค title นั้น ต้องเจอเว็บเราหน้านั้นปราฏขึ้นมาในหน้าผลการค้นหา Google นั้นเอง

ตัวอย่างเช็ค Title

ตัวอย่างเช็ค ย่อหน้าแรก

คัดลอกย่อหน้าแรกบนหน้านั้นมาสัก 1 ประโยคแบบนี้

แล้วเอาประโยคนั้นไปค้นหาต่อบน Google ถ้าเจอตัวอักษรเป็นแถบสีแดงแบบเปะๆ แปลว่าประโยคนั้นบนเว็บของเรา คือ เนื้อหาสดใหม่ ไม่ซ้ำใคร

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยบกับเรื่องนี้:  เนื้อหาซ้ำ เนื้อหาไม่ซ้ำ เนื้อหาสดใหม่ แบบที่ Google ต้องการดูยังไง

ถ้าเว็บของเราผ่าน 2 เงื่อนไขนี้ได้ อันดับกลับมาแน่นอน

แต่ถ้าเช็คแล้ว เว็บเราไม่ผ่าน 2 เงื่อนไขดังกล่าว เราอาจะรอเวลาเต็มที่สัก 1 สัปดาห์ (ผมแนะนำว่ารอแค่ 1 สัปดาห์พอ รอเกินนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์แล้ว) แล้วลองเช็คซ้ำอีกรอบ ว่าสิ่งที่เราทำลงไปผ่านเกณฑ์สดใหม่หรือยัง

ถ้าเช็คซ้ำแล้ว ก็ยังไม่ผ่าน แสดงว่า สิ่งที่เราแก้ไขไปนั้นยังดีไม่พอ ก็ต้องแก้ไขกันใหม่ทั้งหมดอีกรอบนะ ซึ่งโดยมากเว็บที่ไม่สามารถทำอันดับกลับมาได้ ส่วนใหญ่คือ เนื้อหาซ้ำ และผิดธรรมชาติมากเกินไป

เราจะแก้ปัญหาเนื้อหาซ้ำได้ คุณต้องกลั้นใจ ลบหน้าที่มี keyword ซ้ำซ้อน หรือดูแล้วเนื้อหามันใกล้ๆ กันออกไปก่อน ถ้าไม่ลบ หน้าใหม่ที่เราแก้ไข จะไม่มีทางผ่านเกณฑ์จุดนี้ได้อย่างแน่นอน หน้าเยอะแต่มีแต่เขียนเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ก็เหมือนเราเป็นคนที่มีไขมันเยอะ คุณต้องรีดไขมันออกไปก่อน เพื่อให้เว็บภาพรวมมันคล่องตัว ดูสมดุลมากขึ้นนะ

บทสรุป

การติดอันดับ SEO มีขึ้นมีลงเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครติดอันดับได้ตลอดกาล สิ่งนี้คือสัจธรรม แต่การแก้ไขในแต่ละเว็บ ย่อมมีรายละเอียดแตกต่างๆ กันไป เพราะแต่ละเว็บทำกันมาคนแบบ จุดไหนทำมาดี จุดไหนยังทำไม่ดี เราต้องมองสิ่งที่ทำให้ออกก่อน

ส่วนการแก้ไขนั้นไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว การแก้ไขแต่ละอย่าง เราต้องทำโดยยึดหลักการที่เป็นแก่นของ Google เอาไว้ก่อนเสมอ คือ คือ การทำเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ซึ่งสร้างมาเพื่อผู้คนจริงๆ อ่าน ไม่ใช่การทำเนื้อหา เพื่อเอาใจ Google

ถ้าคุณไม่ยึดหลักที่เป็นแก่นของ Google แล้วไปพยายามหาสูตรซิกแซกหลอก Google วันนี้คุณอาจทำสำเร็จ แต่พอ Google อัพเดทรอบหน้า เว็บคุณก็อาจโดน Google ตบ อันดับร่วงหายหมดได้เช่นเดียวกัน

ประชาสัมพันธ์

แน่นอนการแก้ไขแต่ละเคสนั้นไม่ง่าย เพราะแต่ละเว็บมีรายละเอียดแตกต่างกัน มีความยากง่ายแตกต่างกัน หากลองปรับตามคำแนะนำด้านบนแล้ว ยังไม่สำเร็จ คุณอาจต้องมาเรียนรอบสดแบบส่วนตัวเพิ่มเติมนะ เพื่อให้ผมช่วยวิเคราะห์เว็บ และหาทางพาปรับแต่งต่อให้นั้นเอง จุดนี้คุณต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์มาเป็นคนช่วยครับ สำหรับคนที่สนใจ ดูค่าใช้จ่ายและรายละเอียดการเรียนที่หน้านี้ครับ รับสอน SEO แบบส่วนตัว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *